บทความและความรู้


ตรอ. คืออะไร ? ทำไมต้องตรวจสภาพรถยนต์ก่อนต่อภาษี

22 พ.ย. 2567, 05:39 340

ตรอ. คืออะไร ? ทำไมต้องตรวจสภาพรถยนต์ก่อนต่อภาษี

หลายคนสงสัยว่าทำไมต้องตรวจสภาพรถทุกปี เพื่ออะไรและถ้าจะตรวจต้องทำอย่างไรบ้าง วันนี้บริษัท ไอดีไดรฟ์ จำกัด จะพามาทำความรู้จักว่า  ตรอ. คืออะไร ? 

ตรอ. ย่อมาจากคำว่า  #สถานตรวจสภาพรถเอกชน ซึ่งเป็นสถานที่ ที่เปิดให้ผู้ใช้รถยนต์หรือรถจักรยานยนต์นำรถของตนเองเข้ามาตรวจสภาพรถก่อนจะนำไปต่อภาษีได้ในกรณีที่ไม่สะดวกนำรถเข้าไปตรวจสภาพที่กรมขนส่งทางบกนั่นเองค่ะ เหมาะสำหรับคนที่มีบ้านไกล หรือไม่สะดวกขับรถไกลๆ และสถานตรวจสภาพรถที่มีสัญลักษณ์ ตรอ. ก็แสดงว่าได้รับอนุญาตจากกรมขนส่งทางบกเรียบร้อยแล้วค่ะ

นอกจากนี้ การตรวจ ตรอ. คือสิ่งที่จำเป็นเนื่องจากเป็นการตรวจเพื่อรับรองว่ายานพาหนะที่ใช้นั้นมีความปลอดภัย มีสภาพที่พร้อมใช้งานเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนได้

       การตรวจสภาพรถยนต์คือสิ่งที่ผู้ใช้รถทุกคนต้องทำเป็นประจำอยู่แล้ว เพื่อให้รถอยู่ในสภาพดีและยังเป็นการยืดอายุการใช้งานของรถอีกด้วย โดยปกติแล้วการตรวจสภาพรถยนต์จะต้องตรวจเช็กตามระยะทางการใช้งานหรืออายุการใช้งานของรถ แต่เมื่อรถยนต์มีอายุการใช้งานที่มากขึ้น ตามกฎหมายกำหนดว่าจะต้องให้เจ้าของรถนำรถไปตรวจสภาพทุกปีก่อนจึงจะสามารถต่อภาษีหรือพ.ร.บ. รถยนต์ได้ การตรวจแบบนี้ หลายๆ คนมักจะเรียกกันว่า ตรวจตรอ.

วันนี้ผู้เชี่ยวชาญด้านรถยนต์จึงจะพาทุกคนไปรู้จักกับการตรวจสภาพรถยนต์เพื่อต่อภาษีประจำปี (ตรอ.) พร้อมบอกขั้นตอนและวิธีการเตรียมตัวในการตรวจ ตรอ. ให้พร้อมกันเลยค่ะ

รถกี่ปีต้องตรวจตรอ.

พระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 ได้บัญญัติไว้ว่ารถสำหรับการใช้ขนส่งจะต้องมีสภาพที่มั่นคงแข็งแรง และลักษณะต่างๆ ของรถยนต์จะต้องถูกต้องตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง ดังนั้นจึงมีกฎขึ้นมาว่ารถที่มีอายุการใช้งานค่อนข้างเยอะจำเป็นต้องนำรถไปตรวจตรอ.ทุกปี และสำหรับรถที่เข้าเกณฑ์การตรวจตรอ. ก็มีรายการดังนี้

  • รถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คน ที่มีอายุใช้งานครบ 7 ปี ขึ้นไป
  • รถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกิน 7 คน ที่มีอายุใช้งานครบ 7 ปี ขึ้นไป
  • รถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล ที่มีอายุใช้งานครบ 7 ปี ขึ้นไป
  • รถจักรยานยนต์ ที่มีอายุใช้งานครบ 5 ปี ขึ้นไป

และสำหรับการนับอายุยานพาหนะที่เข้าเกณฑ์การตรวจตรอ. สามารถนับจากวันจดทะเบียนครั้งแรกถึงวันสิ้นสุดภาษีประจำปี (หรือก็คือวันครบกำหนดเสียภาษีประจำปี) เช่น หากรถยนต์มีการจดทะเบียนปี 2567 จะต้องเริ่มตรวจตรอ. ในปี 2574 นั่นเอง

รถที่ตรวจตรอ. ไม่ได้

รถบางประเภทมีข้อจำกัดและเงื่อนไขที่ทำให้ตรวจตรอ. ไม่ได้ จำเป็นต้องนำรถไปตรวจสภาพที่หน่วยงานของกรมขนส่งทางบกเท่านั้น โดยยานพาหนะที่มีข้อยกเว้น ได้แก่

  • รถยนต์ที่มีน้ำหนักรถเปล่าเกิน 1,600 กิโลกรม จะตรวจสภาพที่ ตรอ. หรือหน่วยงานของกรมการขนส่งทางบกก็ได้
  • รถของส่วนราชการ บุคคลในคณะผู้แทนทางการฑูต คณะผู้แทนทางกงสุล องค์การระหว่างประเทศ ฯลฯ จะตรวจสภาพที่ ตรอ. หรือหน่วยงานของกรมการขนส่ง ก็ได้
  • รถที่มีการดัดแปลงสภาพ รถที่เปลี่ยนสี เปลี่ยนเครื่องยนต์ รถที่มี ปัญหาเกี่ยวกับเลขตัวรถหรือเลขเครื่องยนต์ รถที่ขาดต่ออายุ ทะเบียนเกิน 1 ปี ฯลฯ (รายละเอียดตามข้อ 6) ให้นำรถไปตรวจ สภาพ ณ หน่วยงานของกรมการขนส่งทางบก

เอกสารที่ต้องเตรียมเพื่อตรวจตรอ.

สำหรับการเตรียมตัวนำรถไปตรวจตรอ. ต้องเตรียมสมุดทะเบียนรถไปด้วย และสามารถนำรถเข้าไปตรวจสภาพได้เลย หากตรวจตรอ.ผ่านก็จะได้รับใบรับรองการตรวจสภาพรถตามแบบที่กรมขนส่งทางบกกำหนดไว้ และสามารถนำใบนั้นไปต่อพรบ. รถยนต์ได้เลย โดยใบรับรองการตรวจสภาพรถนี้จะมีอายุการใช้งาน 3 เดือน

ตรอ. ตรวจอะไรบ้าง

ในการตรวจ ตรอ. มีรายละเอียดในการตรวจหลายอย่างเพื่อตรวจสอบให้แน่ใจว่ายานพาหนะมีประสิทธิภาพในการใช้งานที่ปลอดภัย เราลองมาดูคร่าวๆ ดีกว่าว่าการตรวจตรอ.มีรายละเอียดการตรวจอะไรบ้าง เพื่อให้สามารถเตรียมและตรวจเช็กรถเองได้เบื้องต้นกันเลย

  • ตรวจความถูกต้องของข้อมูลรถ : ข้อมูลต่างๆ ต้องตรงกับสมุดทะเบียนรถ ไม่ว่าจะเป็น แผ่นป้ายทะเบียนรถ, ลักษณะรถ, แบบรถ, สีรถ, หมายเลขตัวรถ, ชนิดเครื่องยนต์, เลขเครื่องยนต์, และชนิดเชื้อเพลิง
  • ตรวจสภาพภายในและภายนอกของรถ เช่น สภาพตัวถัง, การทำงานของอุปกรณ์ความปลอดภัย, เข็มขัดนิรภัย, ระบบไฟ, พวงมาลัย, ที่ปัดน้ำฝน
  • ตรวจสภาพใต้ท้องรถ ซึ่งจะเป็นการตรวจสอบการทำงานของระบบบังคับเลี้ยว ระบบเบรก เครื่องยนต์ ระบบไอเสีย และระบบเชื้อเพลิง
  • ตรวจสอบประสิทธิภาพของเบรก ทำการทดสอบประสิทธิภาพบนลูกกลิ้ง ดังนี้
  • แรงห้ามล้อขณะจอดทุกล้อรวมกัน ต้องไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของนำหนักตัวรถ
  • แรงห้ามล้อหลัดทุกล้อรวมกัน ต้องไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของนำหนักตัวรถ
  • ผลต่างของแรงห้ามล้อหลักด้านขวาและด้านซ้ายต้องไม่เกินร้อยละ 25 ของแรงห้ามล้อสูงสุดในเพลานั้น
  • ตรวจสอบไฟหน้า โดยวัดจากทิศทางเบี่ยงเบนและค่าความเข้มของแสง ดังนี้
  • โคมไฟแสงพุ่งต่ำ มุมกดจากแนวราบระหว่างร้อยละ 0.5 (0.29 องศา) ถึงร้อยละ 4.0 (2.29 องศา) ความเข้มส่องสว่างดวงไฟแต่ละดวงไม่น้อยกว่า 6,400 แคนเดลลา (cd) และทิศทางไม่เบี่ยงเบนไปด้านขวา
  • โคมไฟแสงพุ่งไกล ความเข้มส่องสว่างดวงไฟแต่ละดวงไม่น้อยกว่า 12,000 แคนเดลลา (cd) และทุกดวงรวมกันต้องไม่เกินกว่า 430,000 แคนเดลลา (cd) และทิศทางไม่เบี่ยงเบนไปด้านขวา และไม่สูงเกินกว่าเส้นแนวราบ
  • ตรวจวัดก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์และก๊าซไฮโดรคาร์บอน โดยมีรายละเอียดดังนี้
  • จดทะเบียนก่อน 1 พ.ย. 2536 ค่าก๊าซ CO ไม่เกินร้อยละ 4.5 และค่าก๊าซ HC ไม่เกิน 600 ส่วนในล้านส่วน
  • จดทะเบียน 1 พ.ย. 2536 – 31 ธ.ค. 2549 ค่าก๊าซ CO ไม่เกินร้อยละ 1.5 และค่าก๊าซ HC ไม่เกิน 200 ส่วนในล้านส่วน
  • รถยนต์อื่น นอกเหนือจากข้อก่อนนี้ ที่จดทะเบียนก่อน 1 ม.ค. 2550 ค่าก๊าซ CO ไม่เกินร้อยละ 4.5 และค่าก๊าซ HC ไม่เกิน 600 ส่วนในล้านส่วน
  • รถยนต์ที่จดทะเบียนตั้งแต่ 1 ม.ค. 2550 เป็นต้นไป ค่าก๊าซ CO ไม่เกินร้อยละ 0.5 และค่าก๊าซ HC ไม่เกิน 100 ส่วนในล้านส่วน
  • ตรวจควันดำในรถเครื่องยนต์ดีเซลโดยใช้กระดาษกรอง ต้องไม่เกิน 50% และความทึบแสงต้องไม่เกิน 45%
  • ตรวจวัดเสียงต้องไม่เกิน 100 เดซิเบล

ทำอย่างไรหากตรวจตรอ. ไม่ผ่าน

หากตรวจ ตรอ. ครั้งแรกแล้วไม่ผ่านก็ไม่ต้องกังวลไป เนื่องจากตรอ.จะแจ้งข้อบกพร่องต่างๆ มาให้กลับไปแก้ไขแล้วให้นำรถมาตรวจสภาพใหม่ได้ สาเหตุที่พบได้บ่อยคือรถควันดำหรือมีสภาพไม่พร้อมใช้งาน เช่น ระบบเบรก ทำงานไม่ดี

เมื่อรู้ข้อบกพร่องที่ว่าแล้วก็นำรถไปแก้ไขจากนั้นก็นำรถกลับไปตรวจสภาพที่ ตรอ. เดิมได้ใน 15 วัน โดยเสียค่าบริการแค่ครึ่งเดียว แต่หากเกินกว่า 15 วันหรือนำรถไปตรวจตรอ. ที่อื่นจะต้องเสียค่าบริการเต็มจำนวน

การตรวจ ตรอ.คือขั้นตอนที่จำเป็นของผู้ใช้รถ ดังนั้นผู้ใช้รถทุกคนควรตรวจสอบ เตรียมพร้อม และศึกษาข้อมูลให้ดี เพื่อการใช้งานของรถอย่างปลอดภัยและถูกต้องกันค่ะ

 

ขอบคุณข้อมูลและเครดิตภาพจาก Web: carsome.co.th


แสดงความคิดเห็น

Scroll to Top