เมื่อเหตุ "ไฟไหม้" อยู่ใกล้ตัวมากกว่าที่คิด! จึงควรเรียนรู้วิธีการรับมือเมื่อเกิดเหตุ "ไฟไหม้" ขึ้นว่าคุณต้องทำอย่างไรบ้าง? ก่อนอื่นต้องบอกว่าหากเหตุผิดปกติใดๆ ขึ้นมา คนเราจะมีสัญชาตญาณการเอาตัวรอดอยู่แล้ว เมื่อเกิดเหตุการณ์ "ไฟไหม้" ฉับพลันขึ้นสิ่งแรกที่คนเราจะทำคือ ช่วยเหลือตัวเองให้รอดปลอดภัยและออกจากสถานที่เสี่ยงภัยให้เร็วที่สุด ซึ่งบางคนก็อาาจะยังไม่รู้วิธีการที่ถูกต้อง ทางกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จึงได้แนะนำวิธีปฏิบัติตนและอพยพออกจากอาคารที่เกิดเพลิงไหม้อย่างปลอดภัย เอาไว้ดังนี้
1. ตั้งสติให้ดี
อย่างแรกคือต้องตั้งสติก่อน ไม่ตื่นตระหนก และประเมินสถานการณ์ในเบื้องต้นว่าเหตุไฟไหม้ที่เกิดขึ้นนั้นมีความรุนแรงแค่ไหน และอยู่ใกล้ตัวมากแค่ไหน หากเหตุไฟไหม้นั้นเกิดขึ้นในบ้านเรือนของตน ให้ไปต่อที่ข้อ 3 ทันที
2. กดสัญญาณเตือนภัย
หากเป็นเหตุไฟไหม้ที่อยู่ในสำนักงานหรือออฟฟิศที่ทำงาน ส่วนใหญ่มักจะติดตั้งปุ่มกดเตือนภัยเอาไว้ หากพบว่ามีประกายไฟหรือเกิดควันที่ทำให้แน่ใจว่าเกิดไฟไหม้ขนาดใหญ่แน่ๆ ควรตะโกนบอกทุกคนที่อยู่ในพื้นที่นั้นให้ทราบทั่วกัน แล้วให้รีบกดสัญญาณเตือนภัยทันที
3. โทรศัพท์แจ้ง 199
ในกรณีที่เกิดเหตุ “ไฟไหม้” ระดับรุนแรง และกินพื้นที่เป็นวงกว้าง ไม่ว่าจะเป็นไฟไหม้ในบ้านเรือน ในชุมชน หรือในสำนักงาน หลังจากกดสัญญาณเตือนเพลิงไหม้แล้ว ให้เตรียมพร้อมอพยพออกจากพื้นที่เกิดเพลิงไหม้ และรีบโทรแจ้งเจ้าหน้าที่ดับเพลิงที่เบอร์ 199 ทันที
4. ใช้ถังดับเพลิง
ในกรณีที่เกิดเหตุ “ไฟไหม้” เพียงเล็กน้อย ให้ใช้ถังดับเพลิงควบคุมเพลิงในเบื้องต้นก่อน แล้วจึงค่อยโทรศัพท์แจ้งเจ้าหน้าที่ให้มาควบคุมเพลิงในบางส่วนที่อาจหลงเหลืออยู่
5. ใช้ผ้าชุบน้ำปิดปากและจมูก
ขั้นตอนนี้เป็นการเริ่มอพยพออกจากพื้นที่ที่เกิดเพลิงไหม้ เริ่มจากใช้ผ้าชุบน้ำปิดจมูกและปาก หรือใช้ถุงพลาสติกใสขนาดใหญ่อัดอากาศบริสุทธิ์แล้วนำมาครอบศีรษะ เพื่อป้องกันการสูดดมควันไฟเข้าสู่ร่างกายที่อาจจะทำให้หมดสติและเสียชีวิต
6. อย่าเปิดประตูทันที
หากเกิดไฟไหม้ข้างนอกและติดอยู่ในห้อง ก่อนออกจากห้องให้ใช้มือสัมผัสผนังหรือลูกบิดประตู หากไม่ร้อนให้เปิดประตูออกไปช้าๆ และอพยพตามเส้นทางหนีไฟที่ปลอดภัย แต่หากสัมผัสผนังหรือลูกบิด พบว่า มีความร้อนสูง ห้ามเปิดประตูออกไป เพราะจะตกอยู่ในวงล้อมของกองเพลิง
มีวิธีการเอาตัวรอด คือ ให้ใช้ผ้าหนาๆ ชุบน้ำอุดตามช่องที่ควันไฟสามารถลอยเข้ามาได้ ปิดพัดลมระบายอากาศและเครื่องปรับอากาศ เพื่อป้องกันการสูดดมควันไฟ พร้อมโทรศัพท์แจ้งเจ้าหน้าที่เพื่อบอกตำแหน่งที่ติดอยู่ และส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือให้ได้มากที่สุด
7. หมอบคลานต่ำ
ในกรณีที่ออกจากห้องมาได้แล้ว และเผชิญกับไฟไหม้ในตัวอาคาร ให้หมอบคลานต่ำหรือย่อตัวใกล้กับระดับพื้นมากที่สุด เนื่องจากอากาศบริสุทธิ์อยู่เหนือระดับพื้นไม่เกิน 1 ฟุต เพื่ออพยพไปสู่ประตูทางออกฉุกเฉินที่ใกล้ที่สุด
8. ห้ามใช้ลิฟท์
ห้ามใช้ลิฟต์ในการอพยพหนีไฟ เพราะเมื่อเกิดเพลิงไหม้ไฟฟ้าจะดับ ทำให้ติดค้างภายในลิฟต์ ขาดอากาศหายใจเสียชีวิตได้
แต่ให้ใช้บันไดหนีไฟในการอพยพออกจากอาคาร เนื่องจากมีช่องระบายอากาศ จึงช่วยลดการสูดดมควันไฟเข้าสู่ร่างกาย และไม่ควรไม่ใช้บันไดภายในอาคารเป็นเส้นทางอพยพหนีไฟ เพราะบันไดมีลักษณะเป็นปล่อง ทำให้ควันไฟและเปลวเพลิงลอยขึ้นมาปกคลุม จึงเสี่ยงต่อการสำลักควันไฟและถูกไฟคลอกเสียชีวิต
9. หากไฟไหม้เสื้อผ้าให้กลิ้งตัวกับพื้น
กรณีไฟลุกลามติดเสื้อผ้า ให้รีบถอดเสื้อผ้าหรือใช้วิธีนอนราบกับพื้นและกลิ้งตัวไปมาให้ไฟดับ อย่าวิ่งอย่างเด็ดขาด เพราะไฟจะลุกลามเร็วขึ้น
10. ไม่หนีไปที่ห้องน้ำ
ไม่หนีเข้าไปอยู่ในห้องน้ำ เพราะปริมาณน้ำไม่เพียงพอต่อการดับไฟ ทำให้ถูกไฟคลอกเสียชีวิตได้ ไม่ขึ้นไปอยู่ชั้นบนหรือดาดฟ้าของอาคาร เพราะไฟจะลุกลามจากชั้นล่างขึ้นสู่ชั้นบน ทำให้เสี่ยงต่อการได้รับอันตราย ยกเว้นกรณีที่ไม่สามารถอพยพหนีไฟลงสู่ชั้นล่างได้
นอกจากนี้ก็ไม่ควรเข้าไปอยู่ในบริเวณจุดอับของอาคาร อาทิ ห้องใต้ดิน เพราะยากต่อการช่วยเหลือของเจ้าหน้าที่ และเมื่อออกมาได้แล้ว ห้ามกลับเข้าไปในอาคารที่เกิดไฟไหม้เพื่อช่วยเหลือผู้อื่นหรือไปเอาสิ่งของอะไรอีกเด็ดขาด ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่เท่านั้น เพราะโครงสร้างอาคารอาจพังถล่มลงมาได้
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพจาก www.bangkokbiznews.com /news/detail/867826