8 มีนาคม ของทุกๆ ปี คือ “วันสตรีสากล” (International women’s day) จะมีบรรดาผู้หญิงในหลายประเทศจากทุกทวีปรวมตัวกันเพื่อร่วมฉลอง และร่วมรำลึกการต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิของผู้หญิง อย่างไรก็ตามในหลายประเทศให้ความสำคัญของวันสตรีสากล วันนี้ทีมนิวมีเดียพีพีทีวี จะพาทุกคนไปรู้จักกับ “วันสตรีสากล” ว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร
ที่มา "วันสตรีสากล"
เรื่องราวทั้งหมดเกิดขึ้นจากกรรมกรหญิงในโรงงานทอผ้า รัฐนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา
ได้พากันลุกฮือประท้วงให้นายจ้างเพิ่มค่าจ้าง และเรียกร้องสิทธิของพวกเธอ แต่สุดท้ายกลับมีผู้หญิงถึง 119 คนต้องเสียชีวิตจากเหตุการณ์นี้ เพราะเหตุมีคนลอบวางเพลิงเผาโรงงานที่พวกเธอนั่งชุมนุมอยู่
โดยเหตุการณ์ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในวันที่ 8 มีนาคม ค.ศ. 1857 จากนั้นในปี ค.ศ.1907 กรรมกรหญิงในโรงงานทอผ้าที่เมืองชิคาโก ประเทศสหรัฐอเมริกาทนไม่ไหวต่อการเอารัด เอาเปรียบ กดขี่ ทารุณ ของนายจ้างที่ใช้งานพวกเธอเยี่ยงทาส เนื่องจากทำงานหนักถึงวันละ 16-17 ชั่วโมง โดยไม่มีวันหยุด
ต่อมา คลารา เซทคิน นักการเมืองผู้หญิงสังคมนิยมชาวเยอรมัน ตัดสินใจปลุกระดมเหล่ากรรมกรผู้หญิงด้วยการนัดหยุดงานในวันที่ 8 มีนาคม ค.ศ.1907 พร้อมกับเรียกร้องให้นายจ้างลดเวลาการทำงานลงเหลือวันละ 8 ชั่วโมง อีกทั้งให้ปรับปรุงสวัสดิการทุกอย่าง และให้สตรีมีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งด้วย
อย่างไรก็ตาม แม้การเรียกร้องครั้งนี้จะไม่ประสบผลสำเร็จ แต่ก็ทำให้สตรีทั่วโลกสนับสนุนการกระทำของคลารา เซทคิน และเป็นการจุดประกายให้สตรีทั่วโลกเริ่มตระหนักถึงสิทธิของตัวเองมากขึ้น ต่อมาในวันที่ 8 มีนาคม ค.ศ. 1908 มีผู้หญิงหญิงกว่า 15,000 คน ร่วมเดินขบวนทั่วเมืองนิวยอร์ก เรียกร้องให้ยุติการใช้แรงงานเด็ก โดยมีคำขวัญการรณรงค์ว่า "ขนมปังกับดอกกุหลาบ" ซึ่งหมายถึงการได้รับอาหารที่พอเพียงพร้อมๆ กับคุณภาพชีวิตที่ดีนั่นเอง
จนกระทั่งในวันที่ 8 มีนาคม ค.ศ. 1910 (พ.ศ. 2453) ความพยายามของกรรมกรผู้หญิงกลุ่มนี้ก็ประสบผลสำเร็จ เมื่อมีตัวแทนผู้หญิงจาก 17 ประเทศ เข้าร่วมประชุมสมัชชาสตรีสังคมนิยมครั้งที่ 2 ณ เมืองโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก โดยในที่ประชุมได้ประกาศรับรองข้อเรียกร้องของบรรดากรรมกรสตรี ในระบบสาม 8 คือ ยอมให้ลดเวลาทำงานเหลือวันละ 8 ชั่วโมง ให้เวลาศึกษาหาความรู้เพื่อพัฒนาศักยภาพของตัวเองอีก 8 ชั่วโมง และอีก 8 ชั่วโมงเป็นเวลาพักผ่อน พร้อมกันนี้ยังได้ปรับค่าแรงของแรงงานหญิงให้เท่าเทียมกับแรงงานชาย และยังมีการคุ้มครองสวัสดิการสตรีและแรงงานเด็กอีกด้วยทั้งนี้ยังได้รับรองข้อเสนอของคลารา เซทคิน ด้วยการกำหนดให้วันที่ 8 มีนาคม ของทุกปีเป็น วันสตรีสากล
"ดอกมิโมซ่าสีเหลือง" สัญลักษณ์แห่งวันสตรีสากล
สัญลักษณ์ของวันสตรีสากล คือ "ดอกมิโมซ่าสีเหลือง" เป็นดอกไม้ที่เป็นตัวแทนของความอ่อนโยนของผู้หญิง แต่ก็แข็งแกร่งในคราวเดียวกัน เนื่องจากเป็นดอกไม้ที่เติบโตในช่วงฤดูหนาวท่ามกลางความหนาวเย็น แต่สามารถอยู่รอดจนผ่านฤดูหนาว และผลิดอกได้ในช่วงเดือนมีนาคม ซึ่งตรงกับเดือนของวันสตรีสากลพอดีนั่นเอง นอกจากดอกมิโมซ่าสีเหลือง หลายประเทศในยุโรปก็ยังนิยมใช้ดอกทิวลิป ดอกกุหลาบ หรือดอกไม้ชนิดอื่นๆ มาเป็นสัญลักษณ์
ความสำคัญ และกิจกรรมในวันสตรีสากล ในวันสตรีสากลของทุกปี ทั่วโลกจะมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมสิทธิสตรี ในสหรัฐอเมริกาจะมีการบริจาคเงินให้แก่องค์กร หรือหน่วยงานการกุศลที่สนับสนุน และให้ความช่วยเหลือผู้หญิงในประเด็นต่างๆ ในขณะที่หลายประเทศทั่วยุโรป ผู้ชายจะนำดอกไม้ไปมอบให้ผู้หญิง ไม่ว่าจะเป็นแม่ เพื่อนผู้หญิง เพื่อนร่วมงาน หรือคนรัก เพื่อเป็นการขอบคุณผู้หญิงที่ต่อสู้เคียงข้างกัน และมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนสังคม
“วันสตรีสากล” กับประเทศไทย
สำหรับประเทศไทย ได้เริ่มให้ความการสนับสนุน “วันสตรีสากล” เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2532 โดยได้มีการก่อตั้งคณะกรรมการส่งเสริมและประสานงานสตรีแห่งชาติ (กสส.) ขึ้นอย่างเป็นทางการ
ดังนั้นวันที่ 8 มีนาคมของทุกปีผู้ใช้แรงงานและสตรีในสาขาอาชีพ ต่างๆ จะมีการจัดกิจกรรมเพื่อฉลองเนื่องในโอกาส วันสตรีสากล และระลึกถึงความเป็นมาแห่งการต่อสู้เพื่อให้ได้ซึ่งความเสมอภาค ยุติธรรม สันติภาพ และการพัฒนา
โดยในปีนี้ (2567) นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) ได้กำหนดแนวคิดในการจัดกิจกรรมปีนี้ว่า "เสริมพลังสตรีและเด็กหญิง ขจัดความยากจนสู่ความเท่าเทียมระหว่างเพศ บนพื้นฐานครอบครัวที่อบอุ่น"
วันสตรีสากล ไม่ใช่เพียงวันธรรมดาวันหนึ่งบนปฏิทิน แต่คือวันที่เป็นจุดเริ่มต้นประวัติศาสตร์ของการต่อสู้ของผู้หญิงทุกยุคทุกสมัย เพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิและโอกาสที่พวกเธอพึงมีเท่าเทียมกับผู้ชาย โดยเฉพาะในปัจจุบันที่มีการส่งเสริมสิทธิสตรีอย่างกว้างขวาง นับเป็นก้าวกระโดดสำคัญของสังคมยุคใหม่
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : pptvhd36