เทคนิคเข้าโค้งให้ปลอดภัย ขับขี่ปลอดภัยในช่วงฝนตก
การขับขี่ในสภาพฝนตกมีความท้าทายเพิ่มขึ้นเนื่องจากถนนมีความลื่นไหลและมีความเปียกน้ำทำให้เกิดการขับขี่ที่ไม่ปลอดภัยได้ ดังนั้นการใช้เทคนิคเข้าโค้งให้ปลอดภัยในสภาพฝนตกเป็นสิ่งสำคัญ นี่คือเทคนิคบางส่วนที่ทาง บริษัท ไอดีไดรฟ์ จำกัด มาแนะนำ เทคนิคการขับรถเข้าโค้ง ให้ปลอดภัยในช่วงหน้าฝนสามารถช่วยให้เราขับขี่ปลอดภัยได้มากขึ้น
สังเกตป้ายจราจร ก่อนถึงทางโค้ง คาดการณ์ลักษณะทางโค้งข้างหน้า
จับพวงมาลัยด้วยมือสองข้าง มีสมาธิมากขึ้น เพราะอาจเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด
เว้นระยะห่างจากรถคันหน้ามากขึ้น เพราะเมื่อถนนลื่น รถจะใช้ระยะเบรกเพิ่มขึ้น
ลดความเร็วลงจากการขับเข้าโค้งปกติ ปฏิบัติตามป้ายความเร็วควบคุมอย่างเคร่งครัด
ประคองรถให้อยู่ในเลน วางตำแหน่งรถให้ถูกต้อง ห้ามแซงทางโค้ง
หากเข้าโค้งเร็วเกินไปอาจทำให้รถสูญเสียการทรงตัว พลิกคว่ำได้ง่าย
หากรถลื่นไถล รถเหินน้ำ ให้ถอนคันเร่งเพื่อลดความเร็ว ควบคุมพวงมาลัยให้มั่น ห้ามเหยียบเบรกรุนแรงกะทันหัน จะทำให้รถหมุนเสียการควบคุม
อย่าลืม! เช็กรถให้พร้อมใช้ ตรวจสอบยาง เบรก ไฟส่องสว่าง ใบปัดน้ำฝน เพื่อให้มั่นใจในการขับขี่ตลอดหน้าฝนกันนะ
ขอบคุณข้อมูลและเครดิตภาพจาก : กรมขนส่งทางบก ขับขี่ปลอดภัย by DLT
565
18 เม.ย. 2568, 15:23
เมื่อเหตุ "ไฟไหม้" อยู่ใกล้ตัวมากกว่าที่คิด! จึงควรเรียนรู้วิธีการรับมือเมื่อเกิดเหตุ "ไฟไหม้" ขึ้นว่าคุณต้องทำอย่างไรบ้าง? ก่อนอื่นต้องบอกว่าหากเหตุผิดปกติใดๆ ขึ้นมา คนเราจะมีสัญชาตญาณการเอาตัวรอดอยู่แล้ว เมื่อเกิดเหตุการณ์ "ไฟไหม้" ฉับพลันขึ้นสิ่งแรกที่คนเราจะทำคือ ช่วยเหลือตัวเองให้รอดปลอดภัยและออกจากสถานที่เสี่ยงภัยให้เร็วที่สุด ซึ่งบางคนก็อาาจะยังไม่รู้วิธีการที่ถูกต้อง ทางกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จึงได้แนะนำวิธีปฏิบัติตนและอพยพออกจากอาคารที่เกิดเพลิงไหม้อย่างปลอดภัย เอาไว้ดังนี้
1. ตั้งสติให้ดี
อย่างแรกคือต้องตั้งสติก่อน ไม่ตื่นตระหนก และประเมินสถานการณ์ในเบื้องต้นว่าเหตุไฟไหม้ที่เกิดขึ้นนั้นมีความรุนแรงแค่ไหน และอยู่ใกล้ตัวมากแค่ไหน หากเหตุไฟไหม้นั้นเกิดขึ้นในบ้านเรือนของตน ให้ไปต่อที่ข้อ 3 ทันที
2. กดสัญญาณเตือนภัย
หากเป็นเหตุไฟไหม้ที่อยู่ในสำนักงานหรือออฟฟิศที่ทำงาน ส่วนใหญ่มักจะติดตั้งปุ่มกดเตือนภัยเอาไว้ หากพบว่ามีประกายไฟหรือเกิดควันที่ทำให้แน่ใจว่าเกิดไฟไหม้ขนาดใหญ่แน่ๆ ควรตะโกนบอกทุกคนที่อยู่ในพื้นที่นั้นให้ทราบทั่วกัน แล้วให้รีบกดสัญญาณเตือนภัยทันที
3. โทรศัพท์แจ้ง 199
ในกรณีที่เกิดเหตุ “ไฟไหม้” ระดับรุนแรง และกินพื้นที่เป็นวงกว้าง ไม่ว่าจะเป็นไฟไหม้ในบ้านเรือน ในชุมชน หรือในสำนักงาน หลังจากกดสัญญาณเตือนเพลิงไหม้แล้ว ให้เตรียมพร้อมอพยพออกจากพื้นที่เกิดเพลิงไหม้ และรีบโทรแจ้งเจ้าหน้าที่ดับเพลิงที่เบอร์ 199 ทันที
4. ใช้ถังดับเพลิง
ในกรณีที่เกิดเหตุ “ไฟไหม้” เพียงเล็กน้อย ให้ใช้ถังดับเพลิงควบคุมเพลิงในเบื้องต้นก่อน แล้วจึงค่อยโทรศัพท์แจ้งเจ้าหน้าที่ให้มาควบคุมเพลิงในบางส่วนที่อาจหลงเหลืออยู่
5. ใช้ผ้าชุบน้ำปิดปากและจมูก
ขั้นตอนนี้เป็นการเริ่มอพยพออกจากพื้นที่ที่เกิดเพลิงไหม้ เริ่มจากใช้ผ้าชุบน้ำปิดจมูกและปาก หรือใช้ถุงพลาสติกใสขนาดใหญ่อัดอากาศบริสุทธิ์แล้วนำมาครอบศีรษะ เพื่อป้องกันการสูดดมควันไฟเข้าสู่ร่างกายที่อาจจะทำให้หมดสติและเสียชีวิต
6. อย่าเปิดประตูทันที
หากเกิดไฟไหม้ข้างนอกและติดอยู่ในห้อง ก่อนออกจากห้องให้ใช้มือสัมผัสผนังหรือลูกบิดประตู หากไม่ร้อนให้เปิดประตูออกไปช้าๆ และอพยพตามเส้นทางหนีไฟที่ปลอดภัย แต่หากสัมผัสผนังหรือลูกบิด พบว่า มีความร้อนสูง ห้ามเปิดประตูออกไป เพราะจะตกอยู่ในวงล้อมของกองเพลิง
มีวิธีการเอาตัวรอด คือ ให้ใช้ผ้าหนาๆ ชุบน้ำอุดตามช่องที่ควันไฟสามารถลอยเข้ามาได้ ปิดพัดลมระบายอากาศและเครื่องปรับอากาศ เพื่อป้องกันการสูดดมควันไฟ พร้อมโทรศัพท์แจ้งเจ้าหน้าที่เพื่อบอกตำแหน่งที่ติดอยู่ และส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือให้ได้มากที่สุด
7. หมอบคลานต่ำ
ในกรณีที่ออกจากห้องมาได้แล้ว และเผชิญกับไฟไหม้ในตัวอาคาร ให้หมอบคลานต่ำหรือย่อตัวใกล้กับระดับพื้นมากที่สุด เนื่องจากอากาศบริสุทธิ์อยู่เหนือระดับพื้นไม่เกิน 1 ฟุต เพื่ออพยพไปสู่ประตูทางออกฉุกเฉินที่ใกล้ที่สุด
8. ห้ามใช้ลิฟท์
ห้ามใช้ลิฟต์ในการอพยพหนีไฟ เพราะเมื่อเกิดเพลิงไหม้ไฟฟ้าจะดับ ทำให้ติดค้างภายในลิฟต์ ขาดอากาศหายใจเสียชีวิตได้
แต่ให้ใช้บันไดหนีไฟในการอพยพออกจากอาคาร เนื่องจากมีช่องระบายอากาศ จึงช่วยลดการสูดดมควันไฟเข้าสู่ร่างกาย และไม่ควรไม่ใช้บันไดภายในอาคารเป็นเส้นทางอพยพหนีไฟ เพราะบันไดมีลักษณะเป็นปล่อง ทำให้ควันไฟและเปลวเพลิงลอยขึ้นมาปกคลุม จึงเสี่ยงต่อการสำลักควันไฟและถูกไฟคลอกเสียชีวิต
9. หากไฟไหม้เสื้อผ้าให้กลิ้งตัวกับพื้น
กรณีไฟลุกลามติดเสื้อผ้า ให้รีบถอดเสื้อผ้าหรือใช้วิธีนอนราบกับพื้นและกลิ้งตัวไปมาให้ไฟดับ อย่าวิ่งอย่างเด็ดขาด เพราะไฟจะลุกลามเร็วขึ้น
10. ไม่หนีไปที่ห้องน้ำ
ไม่หนีเข้าไปอยู่ในห้องน้ำ เพราะปริมาณน้ำไม่เพียงพอต่อการดับไฟ ทำให้ถูกไฟคลอกเสียชีวิตได้ ไม่ขึ้นไปอยู่ชั้นบนหรือดาดฟ้าของอาคาร เพราะไฟจะลุกลามจากชั้นล่างขึ้นสู่ชั้นบน ทำให้เสี่ยงต่อการได้รับอันตราย ยกเว้นกรณีที่ไม่สามารถอพยพหนีไฟลงสู่ชั้นล่างได้
นอกจากนี้ก็ไม่ควรเข้าไปอยู่ในบริเวณจุดอับของอาคาร อาทิ ห้องใต้ดิน เพราะยากต่อการช่วยเหลือของเจ้าหน้าที่ และเมื่อออกมาได้แล้ว ห้ามกลับเข้าไปในอาคารที่เกิดไฟไหม้เพื่อช่วยเหลือผู้อื่นหรือไปเอาสิ่งของอะไรอีกเด็ดขาด ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่เท่านั้น เพราะโครงสร้างอาคารอาจพังถล่มลงมาได้
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพจาก www.bangkokbiznews.com /news/detail/867826
1227
18 เม.ย. 2568, 21:13
ทุกการเดินทางเราพร้อมดูแลคุณกับบริษัทไอดีไดรฟ์จำกัด
อุบัติเหตุทางถนนที่เพิ่มมากขึ้นหลังจากการเปิดประเทศ ส่วนใหญ่ยังคงเกิดขึ้นกับพวกเมาแล้วขับ รถจักรยานยนต์กลายเป็นยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุมากที่สุด ตามด้วยรถยนต์ ที่ไม่ได้เกิดแค่บนถนนไฮเวย์ หรือบนทางหลวงเท่านั้น บริเวณชุมชนที่มีผู้คนอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ก็มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นไม่น้อย คนเดินเท้า จักรยาน คนข้ามถนน คนขายของที่อยู่ริมถนน เมื่อขับผ่านเขตชุมชนนักขับส่วนใหญ่จะมีความระมัดระวังเพิ่มมากขึ้น เช่น ลดความเร็ว ไม่ขับจี้ท้ายหรือเปลี่ยนช่องทางไปมาด้วยความเร็ว แต่ก็ยังมีผู้ใช้รถใช้ถนนบางคนที่สติไม่ได้จดจ่ออยู่กับการขับรถ การขาดความระวังแม้แค่แวบเดียวก็อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ โดยเฉพาะการขับในเขตเมือง การขับรถในเขตชุมชนนั้นดูเหมือนจะไม่มีอะไร แต่กลับมีอันตรายมากกว่าการขับรถบนทางหลวง ต้องใช้สมาธิมากกว่าเดิม ใจร้อน ไม่มีสติ ขาดยั้งคิด
อุบัติเหตุนั้นเพิ่มมากขึ้น การสังเกต หรือคาดการณ์ก็จะมีความยุ่งยากและซับซ้อน เครื่องหมายหรือป้ายจราจรก็เยอะ ผู้คนที่สัญจรไปมาทั้งบนทางเท้าและบนถนน ไม่เห็นป้ายบอกเขตจำกัด ความเร็ว หรือเขตโรงเรียน การออกตัว หรือหยุดรถในเขตเมือง โดยขาดความระมัดระวัง อาจหมายถึงอุบัติเหตุ แต่ละถนน แต่ละแยก แต่ละซอย ล้วนเป็นจุดอันตราย
เขตอันตราย ที่อาจไร้ความระมัดระวัง การเลี้ยวกลับรถบริเวณทางแยกทางร่วม ไม่ว่าจะเลี้ยวซ้าย เลี้ยวขวา หรือแม้แต่การขับยูเทิร์น สิ่งที่ต้องระวังก็คือรถบรรทุกขนาดใหญ่ หรือรถพ่วง บางคันอาจกำลังขับคร่อมเลนเมื่อคุณต้องการการเลี้ยวที่ปลอดภัยคือ ต้องเริ่มให้สัญญาณก่อนการเลี้ยวล่วงหน้า อยู่ในช่องทางที่จะเลี้ยวอย่างถูกต้อง ไม่ขับคร่อมเส้นแบ่งช่องทางก่อนการเลี้ยว
ขับโดยทิ้งระยะห่างจากรถคันข้างหน้าใช้ความเร็วต่ำ เพื่อจะได้มีพื้นที่ในการมองและพร้อมที่จะหลบ หรือเบรกให้ทัน ใช้เสียงแตรเตือนเมื่อไม่แน่ใจว่าเขาจะเปิดประตูออกมาหรือไม่เพื่อระวัง เนื่องจากรูปแบบของอุบัติเหตุนั้นแตกต่างกันออกไปตาม สถานที่ด้วยค่ะ
สาระดี มีมาฝาก จาก ศูนย์ตรวจสภาพรถไอดีสารคาม โดย บริษัทไอดีไดรฟ์ จำกัด
นำมาฝากสำหรับทุกท่านนะคะ หากอ่านแล้วข่าวสารนี้ได้รับความรู้ ฝากกดไลค์ กดแชร์ ติดตามเป็นกำลังใจด้วยนะคะ ด้วยความห่วงใย จากศูนย์ตรวจสภาพรถไอดีไดรฟ์ ขอขอบคุณค่ะ
โทร. 043-020-512, 063-506-5577 ,093-479-9747
629
18 เม.ย. 2568, 07:01
ใบขับขี่ช่วยให้คุณรับรองตัวตนและยืนยันสิทธิในสถานการณ์ต่าง ๆ เป็นเอกสารที่อนุญาตให้คุณขับรถในประเทศที่คุณอาศัยอยู่ หรือประเทศที่คุณต้องการขับรถในนั้น มีสาเหตุหลายประการที่ทำให้มีความจำเป็นต้องมีใบขับขี่ ดังนี้...
เรื่องความปลอดภัย การมีใบขับขี่แสดงถึงความสามารถในการขับรถของคุณ ซึ่งได้รับการฝึกฝนและทดสอบในเรื่องของกฎและความปลอดภัยทางถนน มีใบขับขี่ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุและเพิ่มความปลอดภัยสำหรับคุณและผู้อื่น
เพื่อปฏิบัติตามกฎหมาย การมีใบขับขี่ช่วยให้คุณปฏิบัติตามกฎหมายเกี่ยวกับการขับรถ หากคุณขับรถโดยไม่มีใบขับขี่หรือใบขับขี่หมดอายุ คุณอาจต้องเสียค่าปรับ ถูกยึดใบขับขี่ หรือถูกตัดสิทธิในการขับรถชั่วคราวหรือถาวร การมีใบขับขี่ช่วยให้คุณปฏิบัติตามกฎหมายอย่างถูกต้อง
ได้รับประโยชน์จากประกันภัยรถยนต์ ในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ การมีใบขับขี่เป็นเงื่อนไขเพื่อที่จะได้รับการประกันภัยจากบริษัทประกัน การมีประกันภัยรถยนต์ช่วยให้คุณปกป้องตัวเองและรถของคุณจากความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น
การเดินทางต่างประเทศ หากคุณต้องการขับรถในประเทศอื่น ๆ การมีใบขับขี่ที่ถูกต้องเป็นเอกสารสำคัญที่จำเป็น เพื่อให้คุณสามารถขับรถตามกฎหมายและประกอบกิจการในประเทศนั้นได้
สิทธิ์ในการทำงาน ในหลาย ๆ อาชีพ การมีใบขับขี่เป็นเงื่อนไขเพื่อที่จะสมัครงานหรือได้รับตำแหน่งบางอย่าง เช่น งานขับรถบรรทุก หรือ งานบริการขนส่ง
การเช่ารถ หากคุณต้องการเช่ารถ บริษัทเช่ารถอาจต้องการให้คุณแสดงใบขับขี่เพื่อยืนยันว่าคุณมีความสามารถในการขับรถ
ความสะดวกในการเดินทาง ในกรณีที่มีด่านตรวจขันวินัยจราจร หากเรามีใบขับขี่จะช่วยให้คุณสามารถเดินทางด้วยรถส่วนตัวได้ในเวลาที่คุณต้องการ ซึ่งช่วยเพิ่มความสะดวกสบายในการเดินทาง
สรุปคือ การมีใบขับขี่เป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับการขับรถอย่างถูกต้องและปลอดภัย ช่วยให้คุณปฏิบัติตามกฎระเบียบ ลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุ และสร้างความไว้วางใจและเชื่อมั่นในสิทธิและตัวตนของคุณในการเดินทางร่วมกับรถยนต์
2922
18 เม.ย. 2568, 20:46
การเช็กสภาพรถหลังจากเดินทางไกลเป็นสิ่งที่สำคัญเพื่อให้เรามั่นใจว่ารถของเราอยู่ในสภาพดีเพียงพอพร้อมใช้งาน เพื่อเป็นการป้องกันการเกิดปัญหาและช่วยให้มั่นใจในความปลอดภัยการขับขี่ของเราในการเดินทางครั้งถัดไป วันนี้ทาง บริษัท ไอดีไดรฟ์ จำกัด แนะนำ 9 วิธีการตรวจสภาพรถและบำรุงรักษาระบบเบื้องต้น สามารถทำตามขั้นตอนต่อไปนี้เพื่อเช็กสภาพรถหลังจากเดินทางไกลมาแล้วกันค่ะ
1.ทำความสะอาดรถ
ล้างรถให้สะอาดทั้งภายนอกและภายใน เนื่องจากการเดินทางไกลอาจทำให้รถเสียหายจากสิ่งสกปรกหรือฝุ่น หิน ดินทราย ดังนั้นหากมีการเดินทางไกลอย่าลืมที่จะกลับมาล้างรถก่อนใช้งานกันต่อนะคะ
2.เช็กสภาพลมยาง
การเดินทางไกลอาจส่งผลให้ความดันลมยางลดลง จึงควรเช็กลมยาง เพื่อป้องกันการสึกหรอของยางและลดโอกาสเกิดอันตรายจากการขับด้วยความเร็วสูง นอกจากนั้นยังควรตรวจสภาพยางว่าไม่มีอะไรเข้าไปทิ่ม อุด ตำ จนเป็นสาเหตุให้เกิดการรั่วซึมอย่างช้าๆ
หากเราพบว่าล้อใดล้อหนึ่งมีความดันลมน้อยผิดปกติ ให้เติมลมรถเป็นปกติ หรือตรวจเช็กเพื่อสันนิษฐานว่าล้อข้างนั้นอาจมีอะไรทิ่มเข้าไปอยู่ในเนื้อยาง เป็นเหตุให้เกิดการรั่วซึมอย่างช้าๆ ทางที่ดีควรปะยางหรือเปลี่ยนใหม่
3.เช็กน้ำมันเครื่อง
เช็คน้ำมันเครื่อง ควรเช็กระดับน้ำมันเครื่องเพื่อให้แน่ใจว่าอยู่ในระดับปกติ หากพบว่าน้ำมันเครื่องพร่องลงไปมากหรือต่ำกว่าระดับ MIN ควรตรวจเช็กว่ามีการรั่วซึมจุดใดหรือไม่ นอกจากนั้นควรเช็กสภาพน้ำมันเครื่องว่าไม่ดำจนเกินไป รวมถึงไม่มีเศษเขม่าเจือปนอยู่ หากพบควรเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องใหม่
4.เช็กระบบแสงไฟ
ตรวจสอบทุกระบบแสงไฟบนรถ เช่น ไฟหน้า ไฟท้าย ไฟเลี้ยว และไฟเบรก เพื่อให้แน่ใจว่าทุกระบบทำงานอย่างถูกต้อง
5.เช็กระบบเครื่องปรับอากาศ
ตรวจสอบการทำงานของเครื่องปรับอากาศ เพื่อให้แน่ใจว่าสามารถทำความเย็นหรือร้อนได้อย่างปกติเพื่อให้ทำงานอย่างถูกต้องและมีการทำความสะอาดตลอด
6.เช็กช่วงล่างและระบบกันสะเทือน
การขับรถไปยังที่ที่ไม่คุ้นทาง อาจส่งผลให้ขับตกหลุมได้ ซึ่งอาจส่งผลให้ศูนย์ล้อผิดเพี้ยนไปได้ ให้ลองเช็กเบื้องต้นด้วยการปล่อยพวงมาลัยขณะที่รถเคลื่อนที่ไปข้างหน้า หากรถยังคงสามารถวิ่งไปตรงๆ ก็ไม่มีปัญหา
ทั้งนี้ควรเช็กสภาพถนนว่ามีการลาดเอียงไปข้างใดข้างหนึ่งหรือไม่ ซึ่งอาจส่งผลให้รถแฉลบออกด้านข้างได้เช่นกัน
7.ไส้กรองอากาศ
เช็คไส้กรองอากาศ การเดินทางไปต่างจังหวัดอาจต้องขับผ่านถนนที่มีฝุ่นมากกว่าปกติ จึงควรเช็กไส้กรองอากาศว่ามีสิ่งสกปรกอุดตันอยู่หรือไม่ หากมีก็ควรเป่าออก หรือเปลี่ยนไส้กรองใหม่ เพื่อให้เครื่องยนต์สามารถทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ
8.เช็กระบบเบรก
หลังจากเดินทางไกล ควรตรวจเช็กผ้าเบรกด้วย เนื่องจากผ้าเบรกอาจมีการสึกหรอ วิธีสังเกตคือ เวลาเบรกจะมีเสียงผิดปกติ หรือเวลาขับด้วยความเร็วสูงพวงมาลัยจะสั่น ถ้ามีอาการเหล่านี้ควรนำรถไปให้ช่างตรวจเช็กโดยด่วน
9.เช็กระบบน้ำหล่อเย็น
ควรตรวจสอบระดับน้ำหล่อเย็นในหม้อหล่อเย็น ทั้งในหม้อน้ำและหม้อพักน้ำและตรวจสอบการรั่วหรือรอยแตกบนท่อ ทางที่ดีน้ำหล่อเย็นไม่ควรลดระดับไปมาก เมื่อเทียบกับก่อนเดินทางไกล และควรเติมให้ได้ระดับพอดีก่อนใช้งานต่อไป
สิ่งสุดท้ายที่สำคัญมาก ๆ คือการเตรียมความพร้อมของร่างกายโดยเฉพาะผู้ขับขี่ ควรพักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อย 7-8 ชั่วโมง งดรับประทานยาที่ทำให้ง่วงซึมขณะขับรถ เพราะอาจเกิดการหลับในได้ ควรศึกษาเส้นทางต่าง ๆก่อนออกเดินทางให้พร้อม ไม่ควรดื่มแอลกอฮอล์ก่อนออกเดินทางหรือขณะเดินทาง ต้องมีสติในการขับรถเพื่อความปลอดภัยของตัวเราเองและเพื่อนร่วมทาง และหากมีความเหนื่อยล้าระหว่างเดินทางควรหยุดพักสายตาในจุดที่ปลอดภัยกันด้วยนะคะ
846
17 เม.ย. 2568, 21:16